แหล่งรวบรวมอัพเดทเรื่องราว สาระความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ ข่าวสาร เคล็ดลับยานยนต์ คลิปวิดีโอรีวิวรถยนต์โตโยต้า เทคนิคยานยนต์ เทคโนโลยีในรถยนต์โตโยต้า รีวิวรถโตโยต้า และเกล็ดความรู้ต่างๆจาก โชว์รูม – ศูนย์บริการมาตรฐานโตโยต้า กรุงไทย

เคลือบแก้ว คืออะไร มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

เคลือบแก้ว หรือ Glass Coating คือการที่เรานำน้ำยาสูตรพิเศษที่มีส่วนผสมของ ซิลิกา (Silica Dioxide) ซึ่งเป็นสารประกอบของ Quartz มาเคลือบที่ผิวรถ เป็นลักษณะเหมือนฟิล์มแก้วบางๆปกป้องสีรถ และให้ความเงางาม

ข้อดีของการเคลือบแก้ว

  1. ทำให้รถเงางามขึ้น นวัตกรรมการเคลือบแก้ว เพิ่มความเงางามของชั้นฟิล์มบนสีรถ ทำให้รถของคุณดูสวย เงางาม และโดดเด่นมากขึ้น
  2. ลดรอยขนแมวรอยขีดข่วน น้ำยาเคลือบรถมีการพัฒนาให้มีค่าความแข็ง เพื่อป้องกันสีรถได้ค่อนข้างดี ทำให้ป้องกันรอยขนแมว รอยขีดข่วนได้มากกว่าปกติ
  3. ลดการเกาะของน้ำ การเคลือบแก้ว ทำให้น้ำเกาะสีรถได้ยากขึ้น สังเกตง่ายๆ คือ จะเห็นหยดน้ำบนชั้นสีรถ มีลักษณะกลมนูน และกลิ้งได้ เคลือบแก้วจึงเปรียบเสมือนเกาะป้องกันชั้นผิวรถ
  4. ช่วยป้องกันสิ่งสกปรก  อย่างเช่นเศษหิน ดิน ทราย หรือมูลนก เคลือบแก้วช่วยลดการเกิดคราบฝังแน่นบนสีรถ ทำให้รถดูใหม่
  5. ช่วยยืดอายุการใช้งานสีรถ การเคลือบแก้ว ช่วยเพิ่มความทนทานต่อการชะล้าง แรงดันน้ำ ทำให้สีรถติดแน่น ช่วยยืดอายุความสดของสีรถ

ข้อเสียของการเคลือบแก้ว

  1. การเคลือบแก้วมีความยากในการทำ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์พิเศษ แต่การเคลือบแก้วควรให้ผู้เชี่ยวชาญทำ มิเช่นนั้นอาจทำให้เคลือบสีรถไม่สม่ำเสมอ
  2. มีราคาค่อนข้างแพง เพราะต้องใช้อุปกรณ์น้ำยาเคลือบเเบบพิเศษ มีความทนทาน และเงางาม ยิ่งทำให้การเคลือบแก้วมีราคาสูง
  3. การเคลือบแก้ว ไม่ได้ป้องกันริ้วรอยเสมอไป เคลือบแก้วได้ช่วยลดรอยขีดข่วน รอยขนแมวได้ดี แต่หากเป็นรอยขีดข่วนหนักๆ ก็ไม่สามารถป้องกันได้

เคลือบแก้วไปแล้วควรดูแลรักษาอย่างไร

รถที่เคลือบแก้วไปแล้ว สามารถล้างรถลงแวกซ์เคลือบเงาได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการขัดสีรถด้วยเครื่องขัดสีรถรอบสูง หรือการขัดด้วยน้ำยาขัดสีรถประเภทที่มีส่วนผสมของผงขัด หรือ Compond เนื่องจากมีโอกาสที่จะขัดทำให้เคลือบแก้วหลุดได้

สัญญาณไฟหน้าปัดรถยนต์แจ้งเตือน มีความหมายอย่างไร

สัญลักษณ์ไฟแจ้งเตือนที่แสดงเป็นเครื่องหมายต่างๆ บนหน้าปัดรถยนต์ ผู้ขับขี่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อความปลอดภัยของรถ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ซึ่งสัญลักษณ์ไฟแจ้งเตือนที่แสดงขึ้นมานั้นมีสีที่แตกต่างกัน เมื่อเราบิดสวิตช์กุญแจหนึ่งจังหวะ คือการแสดงเครื่องหมายต่างๆ บนหน้าปัดรถ และเมื่อสตาร์ทรถก็จะเห็นไฟต่างๆแสดงขึ้นมา 

ไฟเตือนหน้าปัดรถยนต์มี 3 สี

  1. สัญลักษณ์ ไฟสีแดง  หมายถึง อันตราย ต้องหยุดรถและตรวจสอบหาความผิดปกติตามสัญลักษณ์ที่แสดงขึ้นมาทันที
  2. สัญลักษณ์ ไฟสีเหลือง หมายถึง สัญญาณการเตือน แต่รถยังสามารถใช้ได้ปกติ เช่น เตือนน้ำมันใกล้หมด
  3. สัญลักษณ์ ไฟสีเขียว หมายถึง ผู้ขับขี่กำลังใช้ระบบนั้นๆอยู่ เช่น ไฟเลี้ยว แต่บางรุ่นก็มีสีแตกต่างจากนี้ไปบ้าง

สัญลักษณ์ที่พบเจอได้บ่อยในรถทั่วไป บอกอะไรบ้าง และเราควรรู้หากเกิดปัญหาว่าควรแก้ไขอย่างไร 

1. สัญลักษณ์เข็มขัดนิรภัย

   เป็นสัญลักษณ์เตือนก่อนออกรถว่าผู้โดยสารยังไม่คาดเข็มขัด เมื่อคาดแล้วสัญลักษณ์ก็จะหายไป บางรุ่นมีเสียงเตือนด้วย

  2. สัญลักษณ์ถุงลมนิรภัย

    เป็นสัญลักษณ์เตือนว่าถุงลมนิรภัยมีปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ ให้รีบเข้าศูนย์ซ่อมทันที แต่ถ้าถุงลมนิรภัยไม่ได้มีปัญหา เมื่อสตาร์ทรถก็จะหายไปเอง

  3. สัญลักษณ์กาน้ำมันเครื่องสีแดง

    แปลว่าระบบน้ำมันเครื่องมีปัญหา ควรนำรถเข้าข้างทาง และเรียกช่างนำรถเข้าศูนย์ซ่อมทันที ห้ามขับต่อเด็ดขาด อาจส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์   

    4. สัญลักษณ์เตือนแบตเตอรี่สีแดง

    สัญลักษณ์นี้ค่อนข้างอันตราย เพราะรถอาจมีความเสียหายได้หลายส่วน ควรหยุดรถและหาศูนย์ซ่อมที่ใกล้ที่สุดทันที ไม่ควรขับต่อ

    5. สัญลักษณ์ไฟ ABS

    ปกติสัญลักษณ์ไฟ ABS จะติดตอนสตาร์ทแล้วดับไป แต่ถ้ายังคงค้างอยู่แปลว่าตัวเบรกมีปัญหา ควรขับช้าๆและหาศูนย์ซ่อม

    6. สัญลักษณ์ไฟเบรกมือ

    เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงเมื่อเราดึงเบรกมือขึ้น เพียงแค่เอาเบรกมือลงก็จะหายไป แต่ถ้าไม่หายไปแสดงว่าอาจมีปัญหาที่่น้ำมันเบรกหรือส่วนอื่นๆก็ได้ 

                   7. สัญลักษณ์ไฟเตือนอุณหภูมิหม้อน้ำรถ

        -อุณหภูมิสีฟ้า ไม่อันตราย เพียงแค่หม้อน้ำรถเย็นเกินไป อาจทำให้สตาร์ทไม่ติด

        -อุณหภูมิสีแดง ถือว่าอันตรายมาก เพราะถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปหม้อน้ำอาจระเบิดได้ ไม่ควรขับต่อ 

     8. สัญลักษณ์เครื่องยนต์สีเหลือง

    เป็นสัญลักษณ์เตือนว่าเครื่องยนต์มีปัญหา ควรรีบเข้าศูนย์ซ่อมเพื่อตรวจสอบ

     9. สัญลักษณ์กาน้ำมันสีเหลือง

    สัญลักษณ์นี้จะแสดงต่อเมื่อระดับน้ำมันเครื่องต่ำ ควรตรวจสอบและเติมน้ำมันเครื่อง หากยังไม่หายไป อาจเป็นเพราะมีการรั่วซึมจากการที่อุปกรณ์เสื่อมสภาพ

     10. สัญลักษณ์ปั้มน้ำมัน

     สัญลักษณ์เตือนว่าน้ำมันกำลังจะหมด ให้รีบหาปั้มเติมน้ำมันด่วน

     11. สัญลักษณ์ไฟตัดหมอก

     เป็นสัญลักษณ์ที่จะแสดงตอนเราเปิดไฟตัดหมอกหน้ารถ

      12. สัญลักษณ์ไฟหรี่

      เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงเมื่อเราเปิดไฟหรี่หน้ารถ

      13. สัญลักษณ์ไฟสูง

      เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงตอนเราเปิดไฟสูงหน้ารถ

สัญลักษณ์ต่างๆมีความสำคัญ อย่างน้อยควรหมั่นดูหน้าปัดว่ามีสัญลักษณ์ที่ผิดปกติแสดงขึ้นมาหรือไม่ เมื่อรู้เราจะได้แก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ทันที ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติกับรถของเรา

อะไหล่รถที่ต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุด มีอะไรบ้าง

การดูแลรักษารถยนต์ ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆในรถยนต์นั้น มีการสึกหรอตามการใช้งานของมัน มาดูกันว่ามีอะไหล่ส่วนใดบ้างที่ต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุด

10 อะไหล่ในรถยนต์ ที่ต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุด มีอะไรบ้าง

  1. น้ำมันเครื่อง และไส้กรองน้ำมันเครื่อง 

น้ำมันเครื่องเป็นปัจจัยหลักในการหล่อลื่นชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามกำหนดทุกครั้ง หรือหากพบว่าน้ำมันเครื่องเปลี่ยนเป็นสีดำสนิท นั่นคือสัญญาณบ่งบอกว่าน้ำมันเครื่องหมดอายุ  ให้ทำการเปลี่ยนก่อนกำหนดได้เลย

ระยะเวลาที่เราควรจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องนั้นก็อยู่ที่ ทุกๆ 5,000 – 10,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำมันเครื่อง

  1. ผ้าเบรก 

ผ้าเบรกคือชิ้นส่วนหลักที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของรถ ควรมีการตรวจเช็คทุกๆ 10,000 กิโลเมตร หากผ้าเบรกใกล้หมดจะมีเสียงดังเอี๊ยดเกิดขึ้นขณะเหยียบเบรก หากผ้าเบรกหมดและไม่แก้ไข อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

  1. แบตเตอรี่

แบตเตอรี่มีทั้งแบบแห้งและเปียก ซึ่งแบบแห้งก็จะไม่ต้องดูแลรักษาใดๆตลอดอายุการใช้งาน แต่แบบเปียก จำเป็นต้องมีการเติมน้ำกลั่นให้ได้ระดับอยู่เสมอ 

ระยะเวลาเปลี่ยน ประมาณ 2-3 ปีแล้วแต่การใช้งาน แบตเปียกควรเช็คน้ำกลั่นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

  1. ไส้กรองอากาศ 

ไส้กรองอากาศเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการกรองสิ่งสกปรกในอากาศก่อนเข้าไปยังเครื่องยนต์ ซึ่งหากว่ามีสิ่งสกปรกอุดตันเป็นจำนวนมากก็จะทำให้การเผาไหม้นั้นไม่สมบูรณ์ ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ก็จะลดลง

ระยะเวลาในการเปลี่ยนไส้กรองอากาศนั้นอยู่ที่ระยะเวลา 1 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร และควรจะเป่าทำความสะอาดทุกๆ 3,000 – 5,000 กิโลเมตร

  1. น้ำมันเกียร์ และไส้กรองน้ำมันเกียร์

ระบบเกียร์มีชิ้นส่วนประกอบที่เป็นโลหะเข้าด้วยกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบทั่วไป แบบ CVT หรือแบบ Dual-clutch ซึ่งระบบเกียร์นั้นจะมีการเคลื่อนที่ภายในตลอดเวลา จึงมีอัตราการสึกหรอสูง น้ำมันเกียร์เป็นสิ่งสำคัญในการลดการสึกหรอดังกล่าว

ระยะเวลาเปลี่ยน ประมาณ 20,000 – 40,000 กิโลเมตรแล้วแต่รุ่นรถ

  1. ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง

ชิ้นส่วนนี้จะสามารถพบได้ทั้งรถที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซล ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นมีหน้าที่ดักจับสิ่งสกปรกต่างๆ และน้ำที่มาพร้อมกับน้ำมันที่เราเติมตามปั๊ม หากไส้กรองตันและปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป จนแรงดันน้ำมันไปยังเครื่องยนต์ไม่พอ จะส่งผลให้เครื่องยนต์มีอาการเร่งไม่ขึ้น กระตุก และสตาร์ทยากได้

แนะนำให้เปลี่ยนทุกๆ 2 ปี หรือ ทุกๆ 80,000 กิโลเมตร

  1. หลอดไฟต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า ไฟเลี้ยวต่างๆ ไฟตัดหมอก ควรตรวจเช็คอยู่เสมอว่าติดครบทุกดวงหรือไม่ หากเสียหรือใช้การไม่ได้ ให้รีบเปลี่ยน

  1. สายพานไทม์มิ่ง

สายพานไทม์มิ่งเป็นสายพานหลักของเครื่องยนต์ หากเกิดการชำรุดหรือขาด จะส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์อย่างรุนแรง เมื่อรถวิ่งครบ 150,000 กิโลเมตร ควรเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง

  1. หัวเทียน

หัวเทียนส่งผลต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์เป็นอย่างมาก หากหัวเทียนเก่าจนเกินไปจะทำให้เครื่องยนต์สะดุดทำงานได้ไม่เต็มที่

ควรเปลี่ยนหัวเทียนประมาณ 40,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 100,000 กิโลเมตร

  1. ใบปัดน้ำฝน

ใบปัดน้ำฝน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานบ่อย แต่ก็ควรตรวจเช็คให้แน่ใจทุกครั้งโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน หากไม่สามารถรีดน้ำได้เหมือนปกติ ปัดไม่สะอาด หรือปัดแล้วเกิดรอยเป็นเส้นๆ ควรรีบเปลี่ยน ระยะเวลาในการเปลี่ยนใบปัดน้ำฝนนั้นก็อยู่ที่เวลาประมาณ 1 ปี

การดูแลรักษารถยนต์ และอะไหล่ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อะไรชำรุดเสียหายก็ควรเปลี่ยนหรือซ่อม ไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยผ่าน หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดความเสียหายที่มากขึ้น

เมื่อจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำท่วม มีวิธีขับและดูแลหลังขับอย่างไร

หลายพื้นที่เริ่มเผชิญกับฝนตกหนัก ปัญหาที่ตามมาคือ เกิดน้ำท่วม น้ำขัง การขับรถลุยน้ำจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการขับรถลุยน้ำ และการดูแลรถหลังจากขับรถลุยน้ำแล้วเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้รถของเราเกิดความเสียหายหรือเสียหายน้อยที่สุด

วิธีขับรถลุยน้ำท่วม 

  1. ก่อนถึงจุดน้ำท่วมต้องลดความเร็วลง เพราะถ้าขับรถเร็วผ่านบริเวณน้ำท่วมขัง รถจะเบา คุมรถไม่อยู่และอาจเสียการทรงตัวได้ โดยอย่าให้ความเร็วเกิน 60-80 กม./ชม.
  1. ปิดระบบแอร์ภายในรถ เพราะถ้าเปิดไว้ใบพัดลมแอร์อาจพัดเอาน้ำเข้ามาในห้องเครื่อง หรือเข้าระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหายได้
  1. ระดับน้ำที่จะขับผ่านได้ ถ้าเป็นรถเก๋งก็ประมาณไม่เกิน 30 ซ.ม. หรือประมาณครึ่งล้อ ถ้าระดับน้ำสูงเกินกว่านี้มีโอกาสเครื่องยนต์ดับได้
  1. ใช้เกียร์ต่ำขณะลุยน้ำ คือเกียร์1-2 และรักษาอัตราเร่งไว้ให้ได้ประมาณ 1500-2000 รอบ ถ้าต่ำกว่านี้เครื่องอาจจะดับ หรือสูงกว่านี้อาจจะดูดอากาศและน้ำเข้าในเครื่องยนต์ได้
  1. รักษาระยะห่างระหว่างรถให้มากกว่าเดิม 2-3 เท่า เพราะระบบเบรกแช่น้ำอยู่ทำให้ประสิทธิภาพการเบรกต่ำลง ถ้าขับพ้นน้ำแล้วให้ขับช้าๆ และเบรกเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผ้าเบรกแห้ง ถ้าเป็นดิสเบรกจะแห้งเร็ว แต่ถ้าดรัมเบรกจะแห้งช้ากว่า 
  1. ถ้าเกิดเครื่องยนต์ดับขณะขับลุยน้ำ ห้ามสตาร์ทรถ เพราะจะทำให้น้ำยิ่งเข้าในระบบเครื่องยนต์ ให้หาคนช่วยเข็นไปยังจุดที่พ้นน้ำ 

 

วิธีดูแลรถหลังขับลุยน้ำ

  1. ตรวจสภาพห้องโดยสาร ควรตรวจสอบความเสียหายทันทีหลังลุยน้ำท่วม โดยสังเกตที่พรมปูพื้น หากใต้พรมมีน้ำแฉะให้รีบนำออกตากแดด เช็ดหรือดูดน้ำที่ขังให้แห้งทันที จากนั้นเปิดประตูทั้งสี่ด้านเพื่อระบายอากาศ ไล่ความชื้นในห้องโดยสาร
  1. ตรวจสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ควรตรวจสอบที่ภายในกล่องฟิวส์ว่ามีความเสียหายหรือไม่ หากมีความเสียหายที่ฟิวส์ใดก็ควรเปลี่ยน  และควรตรวจสอบไฟต่างๆ ภายนอกรถด้วย หากอยู่ในสภาพที่ไม่ปกติ ควรถอดขั้วแบตเตอรี่ออกและให้ช่างตรวจสอบ
  1. ตรวจการทำงานของเครื่องยนต์  หากเครื่องยนต์มีอาการผิดปกติ เช่น อาการกระตุก เร่งไม่ขึ้น เสียงดังกว่าปกติ ให้ตรวจสอบก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง หากมีสีเหมือนกาแฟใส่นม แสดงว่ามีน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ จากนั้นตรวจสอบกรองอากาศ หากพบว่ากรองอากาศ และท่อไอดีเปียก มั่นใจได้ว่ามีน้ำเข้าจริง ควรนำรถเข้าศูนย์ให้ช่างตรวจสอบ
  1. ตรวจสอบการใช้งานของเบรก  เนื่องจากขับรถลุยน้ำอาจทำให้ผ้าเบรกเปียก อย่าเร่งเครื่องออกตัวด้วยความเร็วสูงเด็ดขาด เมื่อเหยียบเบรกรถอาจเสียหลักเนื่องจากลื่นได้ ควรเหยียบเบรกย้ำๆ หลายๆครั้ง เพื่อให้ผ้าเบรกกับจานเบรก อยู่ในสภาพปกติเมื่อมีการสัมผัสกันตอนเบรก ควรขับรถในความเร็วที่เหมาะสม ไม่เร็วเกินไปเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

 

สัญญาณเตือนที่แสดงให้รู้ว่า “ท่อไอเสีย”รถยนต์ของเรากำลังจะพัง

“ท่อไอเสีย” เป็นองค์ประกอบเล็กๆแต่มีความสำคัญมาก ถ้าการระบายไอเสียจากเครื่องยนต์ที่ผ่านทางท่อไอเสียมีการทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการทำงานของเครื่องยนต์ภายในรถอย่างแน่นอน

สัญญาณเตือนบ่งบอก ท่อไอเสียกำลังจะพัง

  1. ท่อไอเสียมีรอยแตก หรือมีสนิมจับ เกิดการชำรุดของท่อไอเสียที่สามารถมองเห็นได้ เมื่อสตาร์ทรถแล้วเห็นควันไม่ได้ออกจากปลายท่อ แต่มีการซึมออกตามกลางท่อ ต้องรีบนำรถเข้าศูนย์ตรวจเช็กทันที
  1. มีเสียงดังครืด..ครืดจากเครื่องยนต์ หากมีเสียงดังผิดปกติจากเครื่องยนต์แบบไม่มีสัญญาณเตือน แสดงว่าท่อไอเสียกำลังมีปัญหา สังเกตได้ง่ายๆหากต้องเปิดเพลงหรือวิทยุดังกว่าเดิมที่เคยฟัง แสดงว่าเครื่องยนต์เริ่มดังเกินไปแล้ว ควรรีบนำรถเข้าเช็กที่ศูนย์บริการ
  1. คันเร่งมีความผิดปกติ หากตอนเหยียบคันเร่งเกิดอาการสั่นของรถที่มากผิดปกติ สันนิษฐานได้ว่ามีบางส่วนของท่อไอเสียเกิดปัญหา ถ้าเป็นเสียงก้องในตอนที่สตาร์ท แสดงว่ามีรอยรั่วที่ใหญ่มากจนได้ยินมาถึงในห้องเครื่อง ต้องรีบนำเข้าศูนย์ตรวจเช็กทันที
  1. เกิดเสียงรั่ว ขณะที่เครื่องยนต์ทำงานเกิดมีเสี่ยงรั่วออกมา หมายความว่าเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา หรือแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์บนรถกำลังพัง รถสามารถใช้งานได้สักระยะ แต่ก็ควรนำรถเข้าตรวจเช็ก
  1. มีกลิ่นไหม้ในห้องโดยสาร แสดงว่าท่อไอเสียรั่วทำให้ก๊าซอาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาในห้องโดยสาร อาจส่งผลให้เกิดอาการมึนศีรษะ จนถึงขั้นหมดสติและอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
  1. ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์แย่ลง เช่น การเดินทางระยะทางเท่าเดิม ความเร็วเท่าเดิม แต่รถยนต์กินน้ำมันมากขึ้นกว่าปกติ

เมื่อพบปัญหาท่อไอเสียทำงานผิดปกติ ควรนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็ก อย่าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหากับเครื่องยนต์ได้