เคล็ดลับยานยนต์ คลิปวิดีโอ รีวิวรถโตโยต้า ข่าวอัพเดทโตโยต้า เทคนิคยานยนต์ ประกันภัยรถยนต์ และ รอบรู้เรื่องรถอื่นๆ รวมถึงโปรโมชั่นรถใหม่ป้ายแดง

เลือกแบบไหนดีระหว่าง ซ่อมศูนย์กับซ่อมอู่

การใช้งานรถยนต์เมื่อถึงเวลาเสื่อมอายุการใช้งาน จำเป็นต้องเอารถเข้าซ่อม แต่จะเลือกซ่อมศูนย์หรือซ่อมอู่ ก็ต้องพิจารณาจากความสะดวกและความต้องการของเจ้าของรถ

การซ่อมทั้งสองแบบต่างกันอย่างไร แบบไหนคุ้มกว่า มีเทคนิคดีๆในการเลือกมาฝาก

การซ่อมศูนย์

การซ่อมศูนย์คือการนำรถเข้าไปซ่อมที่ศูนย์บริการของรถยี่ห้อนั้นๆ โดยช่างซ่อมที่เป็นมืออาชีพผ่านการรับรองมาตรฐานจากทางศูนย์บริการแล้ว หากต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่ก็มั่นใจได้ว่าอะไหล่ที่ใช้จะเป็นอะไหล่แท้ของรถยนต์ยี่ห้อนั้น จึงช่วยเพิ่มความมั่นใจในมาตรฐานทั้งด้านการบริการและคุณภาพของอะไหล่ที่จะได้รับ และการซ่อมศูนย์ยังรับประกันงานซ่อมในระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย โดยสามารถนำมาเข้าศูนย์บริการได้ทันทีหากเกิดปัญหาในภายหลัง 

การซ่อมอู่

การนำรถเข้าซ่อมตามอู่ซ่อมรถทั่วไป อาจเป็นอู่ใกล้บ้าน อู่ที่คุ้นเคยหรือแนะนำกันมา การซ่อมอู่แตกต่างจากการซ่อมศูนย์คือเรื่องมาตรฐานการซ่อม ดังนั้นหากไม่ใช่อู่ที่เคยใช้บริการเป็นประจำ หรืออู่ที่มีช่างมีฝีมือก็อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ เช่น การซ่อมที่ไม่ได้มาตรฐานหรืออะไหล่ไม่มีคุณภาพ รวมไปถึงการรับประกันหลังซ่อมยังสั้นกว่าศูนย์บริการของรถยี่ห้อนั้นๆ

สำหรับผู้ที่ต้องการนำรถไปรับบริการที่อู่รถยนต์ต่าง ๆ อย่าลืมสังเกตด้วยว่าเป็นอู่ประเภทใด 

– อู่ในเครือประกัน คืออู่ซ่อมที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากบริษัทประกันที่ได้ทำประกันไว้ หากมีปัญหาสามารถนำมาซ่อมที่อู่ได้เลย

– อู่นอกเครือประกัน คืออู่ซ่อมรถทั่วไปที่ไม่ได้รับรองโดยบริษัทประกัน สามารถนำรถไปซ่อมได้แต่ต้องสำรองจ่ายก่อน และส่งเรื่องเคลมประกันทีหลัง

แม้ว่าการซ่อมอู่มีความรวดเร็วกว่าการซ่อมศูนย์ มีตัวเลือกเยอะสามารถเลือกอู่ที่ต้องการได้ในทุกพื้นที่ แต่ต้องเช็กให้ดีในเรื่องของคุณภาพอะไหล่และการบริการด้วย ซึ่งต่างจากศูนย์บริการที่มีมาตรฐานเดียวกันในทุกสาขา

ดังนั้นหากต้องเลือกว่าจะซ่อมศูนย์หรือซ่อมอู่ดีกว่ากัน ก็อาจต้องพิจารณาจากสถานการณ์ในตอนนั้นว่าเลือกซ่อมที่ไหนจะสะดวกและรวดเร็วที่สุด ได้รถกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันเร็วที่สุด หากต้องใช้บริการซ่อมอู่ ควรเลือกอู่ที่มีประวัติเชื่อถือได้ รู้จักกันดี หรือผ่านการรับรองจากบริษัทประกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้อีกระดับหนึ่ง

อาการรถกระตุก เครื่องยนต์สะดุด มีสาเหตุจากอะไรบ้าง

เมื่อสตาร์ทรถ แล้วรถมีอาการกระตุกหรือเครื่องยนต์สั่นมากจนผิดสังเกต รวมถึงตอนขับปกติและเร่งความเร็ว เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง และแก้ไขอย่างไร

  1. ยางแท่นเครื่องเสื่อม เป็นสาเหตุยอดนิยมที่ทำให้เกิดอาการเครื่องสั่น อาจเกิดจากยางแท่นเครื่องชำรุด เนื่องจากยางแท่นเครื่องมีหน้าที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือนขณะที่เครื่องกำลังหมุน เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะเกิดอาการเสื่อมหรือฉีกขาด

วิธีแก้ไข ควรให้ช่างเปลี่ยนยางแท่นเครื่องใหม่ โดยปกติแล้วเมื่อมีอายุการใช้งานครบ 100,000 กิโลเมตร ควรเปลี่ยนใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เมื่อเจอทางขรุขระ, ลูกระนาด, หลุม, หรือเศษหินเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นถนน ควรลดความเร็วลง หรือใช้ความเร็วต่ำ

  1. หัวเทียนเสื่อมสภาพ ปัญหาหัวเทียนเสื่อมสภาพสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ นอกจากจะทำให้รถกระตุกแล้วยังทำให้รถสตาร์ทไม่ติดอีกด้วย 

วิธีแก้ไข ให้ถอดหัวเทียนออกมาตรวจเช็กว่ามีคราบเขม่าหรือไม่ หากมีให้ทำความสะอาดจนหมดคราบและใส่กลับเข้าที่ หรือหากเริ่มสึกหรอควรเปลี่ยนหัวเทียนใหม่

  1. ไส้กรองอากาศสกปรกอุดตัน เป็นอีกตัวการที่ทำให้รถกระตุกเพราะอากาศไม่สามารถเข้าไปที่ห้องเผาไหม้ได้

วิธีแก้ไข ถอดไส้กรองอากาศออกมาล้างทำความสะอาด หรือหากไส้กรองหมดอายุแล้วก็ควรเปลี่ยนใหม่ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนไส้กรองคือทุก 10,000 กิโลเมตร

  1. หัวฉีดน้ำมันสกปรก หากหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มสกปรกหรืออุดตันก็อาจทำให้เครื่องยนต์สั่นได้

วิธีแก้ไข เติมสารล้างหัวฉีดที่สามารถหาซื้อได้ตามปั๊มน้ำมันทั่วไป เติมสารดังกล่าวลงในน้ำมัน อัตราส่วน 1 ขวดต่อน้ำมันเต็มถัง หรือจะนำรถเข้าศูนย์เพื่อถอดล้างหัวฉีดก็ได้เช่นกัน

  1. กรองน้ำมันเชื้อเพลิงตัน กรองน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกรองและดักจับสิ่งสกปรกที่อาจปะปนมากับน้ำมันเชื้อเพลิง หากกรองน้ำมันเชื้อเพลิงอุดตันก็จะทำให้เครื่องยนต์สั่นได้ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายไปที่เครื่องยนต์ไม่ทันกับการใช้งานนั่นเอง

วิธีแก้ไข ถอดกรองน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาเปลี่ยน แต่ควรทำโดยช่างผู้ชำนาญเท่านั้น

ทั้งหมดคือสาเหตุที่ทำให้รถกระตุก เครื่องยนต์สั่น และวิธีแก้ไขเบื้องต้นแต่ทางที่ดีควรนำรถเข้าเช็กตามระยะทางที่กำหนดไว้เสมอ พร้อมบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนใหม่ จะได้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเครื่องยนต์สั่นอีกต่อไป 

เช็กได้อย่างไรว่าต้องเปลี่ยน บูชคันเกียร์

บูชคันเกียร์ คือตัวช่วยล็อกให้เกียร์อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ หากบูชเกียร์หลวม หรือแตก จะทำให้เข้าเกียร์ยาก วิธีสังเกตคือ เกียร์มีอาการหลวม โยกไปมาได้มากกว่าปกติ ไฟแสดงตำแหน่งเกียร์ที่หน้าปัด เริ่มมีการคลาดเคลื่อน บูชคันเกียร์เสื่อมสภาพจะทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ไปตำแหน่งอื่นได้ หรือเกิดอาการเกียร์หลุด สำหรับอาการเกียร์หลุดในเกียร์อัตโนมัติเกียร์จะค้างที่เกียร์ถอยหลัง แม้จะเปลี่ยนเกียร์แต่รถก็ยังถอยหลัง ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา ส่วนใหญ่จะหลุดจากเกียร์ที่ขับไปยังตำแหน่งเกียร์ว่าง ต้องรีบนำรถเข้าศูนย์เพื่อตรวจเช็คทันที

 

อยากให้รถเงางาม ควรเคลือบสีรถบ่อยแค่ไหน

การเคลือบสีรถสามารถทำได้บ่อยแค่ไหน ทุกอาทิตย์ เดือนละครั้ง หรือต้องเคลือบทุกครั้งที่ล้าง ความจริงแล้วสามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ แต่เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป ก็ให้นำรถไปล้างและเคลือบสีได้ทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่ไม่ควรเว้นระยะนานเกินไป และการเคลือบสีรถควรทำเป็นประจำ 

การเคลือบสีรถยนต์มีข้อดี เพราะนอกจากจะช่วยปกป้องสีของรถไม่ให้สีจริงถูกทำลายจากสภาพแวดล้อม ยังช่วยไม่ให้สีของรถซีดจาง หมอง เหลือง โดยเฉพาะรถสีขาว ช่วยประหยัดค่าทำสีใหม่ทั้งคัน รวมถึงปกป้องรอยขูดขีดเล็กๆน้อยๆ และการเกิดคราบน้ำได้อีกด้วย

การเคลือบสี คือสิ่งสำคัญสำหรับสีรถ เพราะช่วยให้รถเงางาม ดูใหม่ และยังช่วยปกป้องสภาพชั้นสีของรถอีกด้วย บางคนอาจคิดว่าการเคลือบสีรถยนต์ไม่ควรทำบ่อยเกินไปเพราะอาจจะส่งผลต่อสีของรถ แต่จริง ๆ แล้วการเคลือบสีไม่ทำให้สีจริงของรถได้รับความเสียหาย 

 

อะไหล่รถที่ต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุด มีอะไรบ้าง

การดูแลรักษารถยนต์ ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆในรถยนต์นั้น มีการสึกหรอตามการใช้งานของมัน มาดูกันว่ามีอะไหล่ส่วนใดบ้างที่ต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุด

10 อะไหล่ในรถยนต์ ที่ต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุด มีอะไรบ้าง

  1. น้ำมันเครื่อง และไส้กรองน้ำมันเครื่อง 

น้ำมันเครื่องเป็นปัจจัยหลักในการหล่อลื่นชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามกำหนดทุกครั้ง หรือหากพบว่าน้ำมันเครื่องเปลี่ยนเป็นสีดำสนิท นั่นคือสัญญาณบ่งบอกว่าน้ำมันเครื่องหมดอายุ  ให้ทำการเปลี่ยนก่อนกำหนดได้เลย

ระยะเวลาที่เราควรจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องนั้นก็อยู่ที่ ทุกๆ 5,000 – 10,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำมันเครื่อง

  1. ผ้าเบรก 

ผ้าเบรกคือชิ้นส่วนหลักที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของรถ ควรมีการตรวจเช็คทุกๆ 10,000 กิโลเมตร หากผ้าเบรกใกล้หมดจะมีเสียงดังเอี๊ยดเกิดขึ้นขณะเหยียบเบรก หากผ้าเบรกหมดและไม่แก้ไข อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

  1. แบตเตอรี่

แบตเตอรี่มีทั้งแบบแห้งและเปียก ซึ่งแบบแห้งก็จะไม่ต้องดูแลรักษาใดๆตลอดอายุการใช้งาน แต่แบบเปียก จำเป็นต้องมีการเติมน้ำกลั่นให้ได้ระดับอยู่เสมอ 

ระยะเวลาเปลี่ยน ประมาณ 2-3 ปีแล้วแต่การใช้งาน แบตเปียกควรเช็คน้ำกลั่นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

  1. ไส้กรองอากาศ 

ไส้กรองอากาศเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการกรองสิ่งสกปรกในอากาศก่อนเข้าไปยังเครื่องยนต์ ซึ่งหากว่ามีสิ่งสกปรกอุดตันเป็นจำนวนมากก็จะทำให้การเผาไหม้นั้นไม่สมบูรณ์ ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ก็จะลดลง

ระยะเวลาในการเปลี่ยนไส้กรองอากาศนั้นอยู่ที่ระยะเวลา 1 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร และควรจะเป่าทำความสะอาดทุกๆ 3,000 – 5,000 กิโลเมตร

  1. น้ำมันเกียร์ และไส้กรองน้ำมันเกียร์

ระบบเกียร์มีชิ้นส่วนประกอบที่เป็นโลหะเข้าด้วยกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบทั่วไป แบบ CVT หรือแบบ Dual-clutch ซึ่งระบบเกียร์นั้นจะมีการเคลื่อนที่ภายในตลอดเวลา จึงมีอัตราการสึกหรอสูง น้ำมันเกียร์เป็นสิ่งสำคัญในการลดการสึกหรอดังกล่าว

ระยะเวลาเปลี่ยน ประมาณ 20,000 – 40,000 กิโลเมตรแล้วแต่รุ่นรถ

  1. ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง

ชิ้นส่วนนี้จะสามารถพบได้ทั้งรถที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซล ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นมีหน้าที่ดักจับสิ่งสกปรกต่างๆ และน้ำที่มาพร้อมกับน้ำมันที่เราเติมตามปั๊ม หากไส้กรองตันและปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป จนแรงดันน้ำมันไปยังเครื่องยนต์ไม่พอ จะส่งผลให้เครื่องยนต์มีอาการเร่งไม่ขึ้น กระตุก และสตาร์ทยากได้

แนะนำให้เปลี่ยนทุกๆ 2 ปี หรือ ทุกๆ 80,000 กิโลเมตร

  1. หลอดไฟต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า ไฟเลี้ยวต่างๆ ไฟตัดหมอก ควรตรวจเช็คอยู่เสมอว่าติดครบทุกดวงหรือไม่ หากเสียหรือใช้การไม่ได้ ให้รีบเปลี่ยน

  1. สายพานไทม์มิ่ง

สายพานไทม์มิ่งเป็นสายพานหลักของเครื่องยนต์ หากเกิดการชำรุดหรือขาด จะส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์อย่างรุนแรง เมื่อรถวิ่งครบ 150,000 กิโลเมตร ควรเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง

  1. หัวเทียน

หัวเทียนส่งผลต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์เป็นอย่างมาก หากหัวเทียนเก่าจนเกินไปจะทำให้เครื่องยนต์สะดุดทำงานได้ไม่เต็มที่

ควรเปลี่ยนหัวเทียนประมาณ 40,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 100,000 กิโลเมตร

  1. ใบปัดน้ำฝน

ใบปัดน้ำฝน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานบ่อย แต่ก็ควรตรวจเช็คให้แน่ใจทุกครั้งโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน หากไม่สามารถรีดน้ำได้เหมือนปกติ ปัดไม่สะอาด หรือปัดแล้วเกิดรอยเป็นเส้นๆ ควรรีบเปลี่ยน ระยะเวลาในการเปลี่ยนใบปัดน้ำฝนนั้นก็อยู่ที่เวลาประมาณ 1 ปี

การดูแลรักษารถยนต์ และอะไหล่ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อะไรชำรุดเสียหายก็ควรเปลี่ยนหรือซ่อม ไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยผ่าน หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดความเสียหายที่มากขึ้น