เคล็ดลับยานยนต์ คลิปวิดีโอ รีวิวรถโตโยต้า ข่าวอัพเดทโตโยต้า เทคนิคยานยนต์ ประกันภัยรถยนต์ และ รอบรู้เรื่องรถอื่นๆ รวมถึงโปรโมชั่นรถใหม่ป้ายแดง

อาการรถกระตุก เครื่องยนต์สะดุด มีสาเหตุจากอะไรบ้าง

เมื่อสตาร์ทรถ แล้วรถมีอาการกระตุกหรือเครื่องยนต์สั่นมากจนผิดสังเกต รวมถึงตอนขับปกติและเร่งความเร็ว เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง และแก้ไขอย่างไร

  1. ยางแท่นเครื่องเสื่อม เป็นสาเหตุยอดนิยมที่ทำให้เกิดอาการเครื่องสั่น อาจเกิดจากยางแท่นเครื่องชำรุด เนื่องจากยางแท่นเครื่องมีหน้าที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือนขณะที่เครื่องกำลังหมุน เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะเกิดอาการเสื่อมหรือฉีกขาด

วิธีแก้ไข ควรให้ช่างเปลี่ยนยางแท่นเครื่องใหม่ โดยปกติแล้วเมื่อมีอายุการใช้งานครบ 100,000 กิโลเมตร ควรเปลี่ยนใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เมื่อเจอทางขรุขระ, ลูกระนาด, หลุม, หรือเศษหินเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นถนน ควรลดความเร็วลง หรือใช้ความเร็วต่ำ

  1. หัวเทียนเสื่อมสภาพ ปัญหาหัวเทียนเสื่อมสภาพสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ นอกจากจะทำให้รถกระตุกแล้วยังทำให้รถสตาร์ทไม่ติดอีกด้วย 

วิธีแก้ไข ให้ถอดหัวเทียนออกมาตรวจเช็กว่ามีคราบเขม่าหรือไม่ หากมีให้ทำความสะอาดจนหมดคราบและใส่กลับเข้าที่ หรือหากเริ่มสึกหรอควรเปลี่ยนหัวเทียนใหม่

  1. ไส้กรองอากาศสกปรกอุดตัน เป็นอีกตัวการที่ทำให้รถกระตุกเพราะอากาศไม่สามารถเข้าไปที่ห้องเผาไหม้ได้

วิธีแก้ไข ถอดไส้กรองอากาศออกมาล้างทำความสะอาด หรือหากไส้กรองหมดอายุแล้วก็ควรเปลี่ยนใหม่ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนไส้กรองคือทุก 10,000 กิโลเมตร

  1. หัวฉีดน้ำมันสกปรก หากหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มสกปรกหรืออุดตันก็อาจทำให้เครื่องยนต์สั่นได้

วิธีแก้ไข เติมสารล้างหัวฉีดที่สามารถหาซื้อได้ตามปั๊มน้ำมันทั่วไป เติมสารดังกล่าวลงในน้ำมัน อัตราส่วน 1 ขวดต่อน้ำมันเต็มถัง หรือจะนำรถเข้าศูนย์เพื่อถอดล้างหัวฉีดก็ได้เช่นกัน

  1. กรองน้ำมันเชื้อเพลิงตัน กรองน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกรองและดักจับสิ่งสกปรกที่อาจปะปนมากับน้ำมันเชื้อเพลิง หากกรองน้ำมันเชื้อเพลิงอุดตันก็จะทำให้เครื่องยนต์สั่นได้ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายไปที่เครื่องยนต์ไม่ทันกับการใช้งานนั่นเอง

วิธีแก้ไข ถอดกรองน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาเปลี่ยน แต่ควรทำโดยช่างผู้ชำนาญเท่านั้น

ทั้งหมดคือสาเหตุที่ทำให้รถกระตุก เครื่องยนต์สั่น และวิธีแก้ไขเบื้องต้นแต่ทางที่ดีควรนำรถเข้าเช็กตามระยะทางที่กำหนดไว้เสมอ พร้อมบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนใหม่ จะได้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเครื่องยนต์สั่นอีกต่อไป 

เช็กได้อย่างไรว่าต้องเปลี่ยน บูชคันเกียร์

บูชคันเกียร์ คือตัวช่วยล็อกให้เกียร์อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ หากบูชเกียร์หลวม หรือแตก จะทำให้เข้าเกียร์ยาก วิธีสังเกตคือ เกียร์มีอาการหลวม โยกไปมาได้มากกว่าปกติ ไฟแสดงตำแหน่งเกียร์ที่หน้าปัด เริ่มมีการคลาดเคลื่อน บูชคันเกียร์เสื่อมสภาพจะทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ไปตำแหน่งอื่นได้ หรือเกิดอาการเกียร์หลุด สำหรับอาการเกียร์หลุดในเกียร์อัตโนมัติเกียร์จะค้างที่เกียร์ถอยหลัง แม้จะเปลี่ยนเกียร์แต่รถก็ยังถอยหลัง ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา ส่วนใหญ่จะหลุดจากเกียร์ที่ขับไปยังตำแหน่งเกียร์ว่าง ต้องรีบนำรถเข้าศูนย์เพื่อตรวจเช็คทันที

 

เกียร์ออโต้ ตำแหน่งต่างๆ ใช้อย่างไรบ้าง?

รถยนต์เกียร์อัตโนมัติกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากขับขี่นุ่มนวลและสะดวกสบาย เหมาะกับสภาพถนนในปัจจุบัน และยังช่วยควบคุมรถได้ดีขึ้น

ตำแหน่งต่างๆและตัวเลขของเกียร์ออโต้ คืออะไร

  1. P ย่อมาจาก Parking : เกียร์สำหรับจอดแบบล็อคล้อ หากจอดบนที่ลาดชัน ให้ใช้ร่วมกับการดึงเบรกมือ
  2. R ย่อมาจาก Reverse : เกียร์ถอยหลัง เมื่ออยู่ในตำแหน่งนี้ รถจะถอยหลังได้เองอย่างช้าๆ โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่ง เพราะจะทำให้รถถอยหลังอย่างเร็ว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ ควรวางเท้าไว้ที่แป้นเบรกตลอดเวลา
  3. N ย่อมาจาก Neutral : เกียร์ว่าง สำหรับจอดรถแบบชั่วคราว เช่นจอดติดไฟแดง หรือจอดชะลอกรณีการจราจรติดขัด และยังสามารถใช้จอดไว้ในที่จอดรถตามห้าง โดยล้อจะไม่ถูกล็อค สามารถเข็นได้
  4. D ย่อมาจาก Drive : เกียร์หลัก สำหรับการขับขี่ปกติใช้สำหรับเดินหน้า เมื่อเกียร์อยู่ตำแหน่ง D รถจะออกตัวแล่นไปเองช้าๆ เมื่อเหยียบคันเร่ง เกียร์จะเปลี่ยนให้เองอัตโนมัติ เริ่มตั้งแต่เกียร์ 1 ไปถึงเกียร์สูงสุด โดยจะขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ เน้นวิ่งทางราบเป็นหลัก

          – D3 เป็นเกียร์ที่เราจะใช้เมื่อต้องการเร่งเครื่องแซง เมื่อเกียร์อยู่ตำแหน่ง D3 เครื่องยนต์จะมีกำลังแรงมากขึ้นที่จะขับแซงคันหน้าได้ หรืออาจใช้เมื่อขับขึ้นทางชันเล็กน้อย เช่นขับขึ้นสะพาน

          – D2 เป็นเกียร์ที่จะใช้เมื่อขับรถขึ้น-ลงเนินที่ค่อนข้างชัน เช่นภูเขา หรือทางคดเคี้ยว หรือที่จอดตามห้างและอาคารสูงๆ

  1. S ย่อมาจาก Sport : เกียร์Sport มักจะมีในรถยนต์ออโต้รุ่นใหม่ๆ เกียร์นี้จะช่วยให้เปลี่ยนอัตราทดเกียร์ช้าลง เครื่องยนต์ลากรอบมากกว่าปกติ รถจะมีกำลังมากขึ้น ไว้สำหรับเร่งแซง
  2. L ย่อมาจาก Low (หรือ D1) เป็นเกียร์ต่ำ ใช้ขับกรณีขึ้นภูเขา ลาดชันสูง รวมไปถึงการลงเขา รถจะใช้ความเร็วต่ำ ให้ความปลอดภัยได้มากกว่า

การใช้งานเกียร์อัตโนมัติอย่างถูกวิธีก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถ และช่วยยืดอายุเกียร์ให้สามารถใช้ได้ไปอีกยาวๆ 

เคลือบแก้ว คืออะไร มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

เคลือบแก้ว หรือ Glass Coating คือการที่เรานำน้ำยาสูตรพิเศษที่มีส่วนผสมของ ซิลิกา (Silica Dioxide) ซึ่งเป็นสารประกอบของ Quartz มาเคลือบที่ผิวรถ เป็นลักษณะเหมือนฟิล์มแก้วบางๆปกป้องสีรถ และให้ความเงางาม

ข้อดีของการเคลือบแก้ว

  1. ทำให้รถเงางามขึ้น นวัตกรรมการเคลือบแก้ว เพิ่มความเงางามของชั้นฟิล์มบนสีรถ ทำให้รถของคุณดูสวย เงางาม และโดดเด่นมากขึ้น
  2. ลดรอยขนแมวรอยขีดข่วน น้ำยาเคลือบรถมีการพัฒนาให้มีค่าความแข็ง เพื่อป้องกันสีรถได้ค่อนข้างดี ทำให้ป้องกันรอยขนแมว รอยขีดข่วนได้มากกว่าปกติ
  3. ลดการเกาะของน้ำ การเคลือบแก้ว ทำให้น้ำเกาะสีรถได้ยากขึ้น สังเกตง่ายๆ คือ จะเห็นหยดน้ำบนชั้นสีรถ มีลักษณะกลมนูน และกลิ้งได้ เคลือบแก้วจึงเปรียบเสมือนเกาะป้องกันชั้นผิวรถ
  4. ช่วยป้องกันสิ่งสกปรก  อย่างเช่นเศษหิน ดิน ทราย หรือมูลนก เคลือบแก้วช่วยลดการเกิดคราบฝังแน่นบนสีรถ ทำให้รถดูใหม่
  5. ช่วยยืดอายุการใช้งานสีรถ การเคลือบแก้ว ช่วยเพิ่มความทนทานต่อการชะล้าง แรงดันน้ำ ทำให้สีรถติดแน่น ช่วยยืดอายุความสดของสีรถ

ข้อเสียของการเคลือบแก้ว

  1. การเคลือบแก้วมีความยากในการทำ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์พิเศษ แต่การเคลือบแก้วควรให้ผู้เชี่ยวชาญทำ มิเช่นนั้นอาจทำให้เคลือบสีรถไม่สม่ำเสมอ
  2. มีราคาค่อนข้างแพง เพราะต้องใช้อุปกรณ์น้ำยาเคลือบเเบบพิเศษ มีความทนทาน และเงางาม ยิ่งทำให้การเคลือบแก้วมีราคาสูง
  3. การเคลือบแก้ว ไม่ได้ป้องกันริ้วรอยเสมอไป เคลือบแก้วได้ช่วยลดรอยขีดข่วน รอยขนแมวได้ดี แต่หากเป็นรอยขีดข่วนหนักๆ ก็ไม่สามารถป้องกันได้

เคลือบแก้วไปแล้วควรดูแลรักษาอย่างไร

รถที่เคลือบแก้วไปแล้ว สามารถล้างรถลงแวกซ์เคลือบเงาได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการขัดสีรถด้วยเครื่องขัดสีรถรอบสูง หรือการขัดด้วยน้ำยาขัดสีรถประเภทที่มีส่วนผสมของผงขัด หรือ Compond เนื่องจากมีโอกาสที่จะขัดทำให้เคลือบแก้วหลุดได้

สัญญาณไฟหน้าปัดรถยนต์แจ้งเตือน มีความหมายอย่างไร

สัญลักษณ์ไฟแจ้งเตือนที่แสดงเป็นเครื่องหมายต่างๆ บนหน้าปัดรถยนต์ ผู้ขับขี่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อความปลอดภัยของรถ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ซึ่งสัญลักษณ์ไฟแจ้งเตือนที่แสดงขึ้นมานั้นมีสีที่แตกต่างกัน เมื่อเราบิดสวิตช์กุญแจหนึ่งจังหวะ คือการแสดงเครื่องหมายต่างๆ บนหน้าปัดรถ และเมื่อสตาร์ทรถก็จะเห็นไฟต่างๆแสดงขึ้นมา 

ไฟเตือนหน้าปัดรถยนต์มี 3 สี

  1. สัญลักษณ์ ไฟสีแดง  หมายถึง อันตราย ต้องหยุดรถและตรวจสอบหาความผิดปกติตามสัญลักษณ์ที่แสดงขึ้นมาทันที
  2. สัญลักษณ์ ไฟสีเหลือง หมายถึง สัญญาณการเตือน แต่รถยังสามารถใช้ได้ปกติ เช่น เตือนน้ำมันใกล้หมด
  3. สัญลักษณ์ ไฟสีเขียว หมายถึง ผู้ขับขี่กำลังใช้ระบบนั้นๆอยู่ เช่น ไฟเลี้ยว แต่บางรุ่นก็มีสีแตกต่างจากนี้ไปบ้าง

สัญลักษณ์ที่พบเจอได้บ่อยในรถทั่วไป บอกอะไรบ้าง และเราควรรู้หากเกิดปัญหาว่าควรแก้ไขอย่างไร 

1. สัญลักษณ์เข็มขัดนิรภัย

   เป็นสัญลักษณ์เตือนก่อนออกรถว่าผู้โดยสารยังไม่คาดเข็มขัด เมื่อคาดแล้วสัญลักษณ์ก็จะหายไป บางรุ่นมีเสียงเตือนด้วย

  2. สัญลักษณ์ถุงลมนิรภัย

    เป็นสัญลักษณ์เตือนว่าถุงลมนิรภัยมีปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ ให้รีบเข้าศูนย์ซ่อมทันที แต่ถ้าถุงลมนิรภัยไม่ได้มีปัญหา เมื่อสตาร์ทรถก็จะหายไปเอง

  3. สัญลักษณ์กาน้ำมันเครื่องสีแดง

    แปลว่าระบบน้ำมันเครื่องมีปัญหา ควรนำรถเข้าข้างทาง และเรียกช่างนำรถเข้าศูนย์ซ่อมทันที ห้ามขับต่อเด็ดขาด อาจส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์   

    4. สัญลักษณ์เตือนแบตเตอรี่สีแดง

    สัญลักษณ์นี้ค่อนข้างอันตราย เพราะรถอาจมีความเสียหายได้หลายส่วน ควรหยุดรถและหาศูนย์ซ่อมที่ใกล้ที่สุดทันที ไม่ควรขับต่อ

    5. สัญลักษณ์ไฟ ABS

    ปกติสัญลักษณ์ไฟ ABS จะติดตอนสตาร์ทแล้วดับไป แต่ถ้ายังคงค้างอยู่แปลว่าตัวเบรกมีปัญหา ควรขับช้าๆและหาศูนย์ซ่อม

    6. สัญลักษณ์ไฟเบรกมือ

    เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงเมื่อเราดึงเบรกมือขึ้น เพียงแค่เอาเบรกมือลงก็จะหายไป แต่ถ้าไม่หายไปแสดงว่าอาจมีปัญหาที่่น้ำมันเบรกหรือส่วนอื่นๆก็ได้ 

                   7. สัญลักษณ์ไฟเตือนอุณหภูมิหม้อน้ำรถ

        -อุณหภูมิสีฟ้า ไม่อันตราย เพียงแค่หม้อน้ำรถเย็นเกินไป อาจทำให้สตาร์ทไม่ติด

        -อุณหภูมิสีแดง ถือว่าอันตรายมาก เพราะถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปหม้อน้ำอาจระเบิดได้ ไม่ควรขับต่อ 

     8. สัญลักษณ์เครื่องยนต์สีเหลือง

    เป็นสัญลักษณ์เตือนว่าเครื่องยนต์มีปัญหา ควรรีบเข้าศูนย์ซ่อมเพื่อตรวจสอบ

     9. สัญลักษณ์กาน้ำมันสีเหลือง

    สัญลักษณ์นี้จะแสดงต่อเมื่อระดับน้ำมันเครื่องต่ำ ควรตรวจสอบและเติมน้ำมันเครื่อง หากยังไม่หายไป อาจเป็นเพราะมีการรั่วซึมจากการที่อุปกรณ์เสื่อมสภาพ

     10. สัญลักษณ์ปั้มน้ำมัน

     สัญลักษณ์เตือนว่าน้ำมันกำลังจะหมด ให้รีบหาปั้มเติมน้ำมันด่วน

     11. สัญลักษณ์ไฟตัดหมอก

     เป็นสัญลักษณ์ที่จะแสดงตอนเราเปิดไฟตัดหมอกหน้ารถ

      12. สัญลักษณ์ไฟหรี่

      เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงเมื่อเราเปิดไฟหรี่หน้ารถ

      13. สัญลักษณ์ไฟสูง

      เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงตอนเราเปิดไฟสูงหน้ารถ

สัญลักษณ์ต่างๆมีความสำคัญ อย่างน้อยควรหมั่นดูหน้าปัดว่ามีสัญลักษณ์ที่ผิดปกติแสดงขึ้นมาหรือไม่ เมื่อรู้เราจะได้แก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ทันที ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติกับรถของเรา