เมื่อจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำท่วม มีวิธีขับและดูแลหลังขับอย่างไร

หลายพื้นที่เริ่มเผชิญกับฝนตกหนัก ปัญหาที่ตามมาคือ เกิดน้ำท่วม น้ำขัง การขับรถลุยน้ำจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการขับรถลุยน้ำ และการดูแลรถหลังจากขับรถลุยน้ำแล้วเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้รถของเราเกิดความเสียหายหรือเสียหายน้อยที่สุด

วิธีขับรถลุยน้ำท่วม 

  1. ก่อนถึงจุดน้ำท่วมต้องลดความเร็วลง เพราะถ้าขับรถเร็วผ่านบริเวณน้ำท่วมขัง รถจะเบา คุมรถไม่อยู่และอาจเสียการทรงตัวได้ โดยอย่าให้ความเร็วเกิน 60-80 กม./ชม.
  1. ปิดระบบแอร์ภายในรถ เพราะถ้าเปิดไว้ใบพัดลมแอร์อาจพัดเอาน้ำเข้ามาในห้องเครื่อง หรือเข้าระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหายได้
  1. ระดับน้ำที่จะขับผ่านได้ ถ้าเป็นรถเก๋งก็ประมาณไม่เกิน 30 ซ.ม. หรือประมาณครึ่งล้อ ถ้าระดับน้ำสูงเกินกว่านี้มีโอกาสเครื่องยนต์ดับได้
  1. ใช้เกียร์ต่ำขณะลุยน้ำ คือเกียร์1-2 และรักษาอัตราเร่งไว้ให้ได้ประมาณ 1500-2000 รอบ ถ้าต่ำกว่านี้เครื่องอาจจะดับ หรือสูงกว่านี้อาจจะดูดอากาศและน้ำเข้าในเครื่องยนต์ได้
  1. รักษาระยะห่างระหว่างรถให้มากกว่าเดิม 2-3 เท่า เพราะระบบเบรกแช่น้ำอยู่ทำให้ประสิทธิภาพการเบรกต่ำลง ถ้าขับพ้นน้ำแล้วให้ขับช้าๆ และเบรกเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผ้าเบรกแห้ง ถ้าเป็นดิสเบรกจะแห้งเร็ว แต่ถ้าดรัมเบรกจะแห้งช้ากว่า 
  1. ถ้าเกิดเครื่องยนต์ดับขณะขับลุยน้ำ ห้ามสตาร์ทรถ เพราะจะทำให้น้ำยิ่งเข้าในระบบเครื่องยนต์ ให้หาคนช่วยเข็นไปยังจุดที่พ้นน้ำ 

 

วิธีดูแลรถหลังขับลุยน้ำ

  1. ตรวจสภาพห้องโดยสาร ควรตรวจสอบความเสียหายทันทีหลังลุยน้ำท่วม โดยสังเกตที่พรมปูพื้น หากใต้พรมมีน้ำแฉะให้รีบนำออกตากแดด เช็ดหรือดูดน้ำที่ขังให้แห้งทันที จากนั้นเปิดประตูทั้งสี่ด้านเพื่อระบายอากาศ ไล่ความชื้นในห้องโดยสาร
  1. ตรวจสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ควรตรวจสอบที่ภายในกล่องฟิวส์ว่ามีความเสียหายหรือไม่ หากมีความเสียหายที่ฟิวส์ใดก็ควรเปลี่ยน  และควรตรวจสอบไฟต่างๆ ภายนอกรถด้วย หากอยู่ในสภาพที่ไม่ปกติ ควรถอดขั้วแบตเตอรี่ออกและให้ช่างตรวจสอบ
  1. ตรวจการทำงานของเครื่องยนต์  หากเครื่องยนต์มีอาการผิดปกติ เช่น อาการกระตุก เร่งไม่ขึ้น เสียงดังกว่าปกติ ให้ตรวจสอบก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง หากมีสีเหมือนกาแฟใส่นม แสดงว่ามีน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ จากนั้นตรวจสอบกรองอากาศ หากพบว่ากรองอากาศ และท่อไอดีเปียก มั่นใจได้ว่ามีน้ำเข้าจริง ควรนำรถเข้าศูนย์ให้ช่างตรวจสอบ
  1. ตรวจสอบการใช้งานของเบรก  เนื่องจากขับรถลุยน้ำอาจทำให้ผ้าเบรกเปียก อย่าเร่งเครื่องออกตัวด้วยความเร็วสูงเด็ดขาด เมื่อเหยียบเบรกรถอาจเสียหลักเนื่องจากลื่นได้ ควรเหยียบเบรกย้ำๆ หลายๆครั้ง เพื่อให้ผ้าเบรกกับจานเบรก อยู่ในสภาพปกติเมื่อมีการสัมผัสกันตอนเบรก ควรขับรถในความเร็วที่เหมาะสม ไม่เร็วเกินไปเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร