เคล็ดลับยานยนต์ คลิปวิดีโอ รีวิวรถโตโยต้า ข่าวอัพเดทโตโยต้า เทคนิคยานยนต์ ประกันภัยรถยนต์ และ รอบรู้เรื่องรถอื่นๆ รวมถึงโปรโมชั่นรถใหม่ป้ายแดง

สัญญาณเตือนที่แสดงให้รู้ว่า “ท่อไอเสีย”รถยนต์ของเรากำลังจะพัง

“ท่อไอเสีย” เป็นองค์ประกอบเล็กๆแต่มีความสำคัญมาก ถ้าการระบายไอเสียจากเครื่องยนต์ที่ผ่านทางท่อไอเสียมีการทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการทำงานของเครื่องยนต์ภายในรถอย่างแน่นอน

สัญญาณเตือนบ่งบอก ท่อไอเสียกำลังจะพัง

  1. ท่อไอเสียมีรอยแตก หรือมีสนิมจับ เกิดการชำรุดของท่อไอเสียที่สามารถมองเห็นได้ เมื่อสตาร์ทรถแล้วเห็นควันไม่ได้ออกจากปลายท่อ แต่มีการซึมออกตามกลางท่อ ต้องรีบนำรถเข้าศูนย์ตรวจเช็กทันที
  1. มีเสียงดังครืด..ครืดจากเครื่องยนต์ หากมีเสียงดังผิดปกติจากเครื่องยนต์แบบไม่มีสัญญาณเตือน แสดงว่าท่อไอเสียกำลังมีปัญหา สังเกตได้ง่ายๆหากต้องเปิดเพลงหรือวิทยุดังกว่าเดิมที่เคยฟัง แสดงว่าเครื่องยนต์เริ่มดังเกินไปแล้ว ควรรีบนำรถเข้าเช็กที่ศูนย์บริการ
  1. คันเร่งมีความผิดปกติ หากตอนเหยียบคันเร่งเกิดอาการสั่นของรถที่มากผิดปกติ สันนิษฐานได้ว่ามีบางส่วนของท่อไอเสียเกิดปัญหา ถ้าเป็นเสียงก้องในตอนที่สตาร์ท แสดงว่ามีรอยรั่วที่ใหญ่มากจนได้ยินมาถึงในห้องเครื่อง ต้องรีบนำเข้าศูนย์ตรวจเช็กทันที
  1. เกิดเสียงรั่ว ขณะที่เครื่องยนต์ทำงานเกิดมีเสี่ยงรั่วออกมา หมายความว่าเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา หรือแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์บนรถกำลังพัง รถสามารถใช้งานได้สักระยะ แต่ก็ควรนำรถเข้าตรวจเช็ก
  1. มีกลิ่นไหม้ในห้องโดยสาร แสดงว่าท่อไอเสียรั่วทำให้ก๊าซอาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาในห้องโดยสาร อาจส่งผลให้เกิดอาการมึนศีรษะ จนถึงขั้นหมดสติและอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
  1. ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์แย่ลง เช่น การเดินทางระยะทางเท่าเดิม ความเร็วเท่าเดิม แต่รถยนต์กินน้ำมันมากขึ้นกว่าปกติ

เมื่อพบปัญหาท่อไอเสียทำงานผิดปกติ ควรนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็ก อย่าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหากับเครื่องยนต์ได้

ดิสก์เบรก กับ ดรัมเบรก แบบไหนดีกว่ากัน

ระบบเบรก (Break) หรือระบบห้ามล้อ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับความปลอดภัยของรถยนต์ เนื่องจากเป็นระบบที่ช่วยในการบังคับและควบคุมยานพาหนะให้สามารถชะลอความเร็วลงได้ โดยเบรกได้ผ่านการพัฒนาและทดสอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหลายครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดในการขับขี่

ระบบเบรกที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันมี 2 แบบ 

ดรัมเบรก (Drum Brake) 

เป็นระบบเบรกชุดแรกๆ ที่มีการพัฒนามา แม้ว่าปัจจุบันดรัมเบรกจะไม่ค่อยมีการใช้งานกับยานยนต์สมัยใหม่เท่าใดนัก แต่ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในรถเก๋งหรือรถกระบะบางรุ่น

ดรัมเบรกมีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ ผ้าเบรกที่มีรูปร่างโค้งสองอัน เรียกว่า ฝักนำและฝักตาม โดยผ้าเบรกทั้งสองจะถูกแม่ปั๊มดันให้ไปยึดติดกับด้านในของฝาครอบเบรก ซึ่งจะถูกดันอีกทอดหนึ่งให้ไปติดกับล้อรถ ส่งผลให้ความเร็วรถค่อยๆชะลอจนหยุดอยู่กับที่ ปัจจุบันดรัมเบรกนิยมใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยมีการติดตั้งทั้งสี่ล้อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหยุดรถ รวมถึงรถรุ่นใหม่บางยี่ห้อที่นิยมติดตั้งดรัมเบรกบริเวณล้อหลัง 

ข้อดี

– ไม่ต้องใช้แรงเหยียบมาก

– มีกำลังหยุดรถสูง เหมาะกับรถที่บรรทุกของหนัก

– มีระบบปิดมิดชิด ไม่ต้องดูแลรักษาบ่อย

ข้อเสีย

– มีความร้อนสะสมสูง

– ไม่ค่อยแม่นยำ เพราะตอบสนองค่อนข้างช้า

– ระบายน้ำได้ไม่ค่อยดี

– ดูแลรักษายาก

ดิสก์เบรก (Disk Brake)

เป็นระบบเบรกที่นิยมใช้ในยานยนต์อย่างรถเก๋งหรือรถกระบะ โดยหลักการทำงานสำคัญคือ เมื่อมีการเหยียบเบรก แม่ปั๊มจะดันผ้าเบรกไปหนีบกับจานเบรกที่ติดกับกงล้อ ทำให้ยานยนต์ค่อย ๆ ชะลอความเร็วลงจนหยุดลงในที่สุด ดิสก์เบรกติดตั้งอยู่บริเวณสองล้อหน้า ส่วนยานยนต์ที่ต้องใช้ความเร็วมากอาจมีการติดตั้งดิสก์เบรกทั้งสี่ล้อเพื่อเพิ่มความสามารถในการเบรกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรถแข่งที่ต้องเร่งความเร็วในการเข้าโค้ง สมรรถนะในการเกาะพื้นถนนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความปลอดภัยของผู้ขับขี่

ข้อดี
– มีความแม่นยำ ตอบสนองได้ทันที

– ดูสวยงามกว่าดรัมเบรก

– ระบายความร้อนได้เร็ว และระบายน้ำได้ดี

– ตรวจเช็ก ทำความสะอาด และบำรุงรักษาง่าย

ข้อเสีย

– กำลังในการเบรกสู้ดรัมเบรกไม่ได้

– ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง

– ผ้าเบรกหมดไว ต้องเปลี่ยนผ้าเบรกบ่อย

ระบบเบรกทั้ง 2 แบบ มีความแตกต่างกันอยู่ไม่มากไม่น้อย แต่ปัจจุบันระบบยอดนิยมก็คือ ดิสก์เบรก เพราะนอกจากประสิทธิภาพในการใช้งานแล้ว ยังสามารถอัพเกรดให้ดีขึ้นรวมถึงเพิ่มความสวยงามได้

ประเภทของดอกยางและลักษณะลายดอกยาง มีอะไรบ้าง

ยางรถยนต์คือหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในขณะเดินทาง ผู้ใช้รถจึงควรให้ความสำคัญและรู้จักยางรถยนต์ เพื่อที่จะเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม อีกสิ่งหนึ่งบนยางรถยนต์ที่ควรรู้คือ ดอกยาง ที่เกี่ยวข้องกับการยึดเกาะถนน ลายดอกยางจึงมีมากมายหลายแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ประเภทของดอกยาง

ยางรถยนต์ในปัจจุบันจะมีการใช้ดอกยาง 4 ประเภท 

– ดอกยางละเอียด (Rib Pattern)  ลักษณะของดอกยางประเภทนี้คือ เป็นแนวยาวบนหน้ายางตามวงรอบของยาง ดอกยางแบบนี้ทำให้เสียหน้าสัมผัสจากร่องยางกับพื้นถนนไม่มาก รีดน้ำได้รวดเร็ว มีเสียงรบกวนน้อย เหมาะกับรถที่ขับบนทางเรียบ

– ดอกยางแบบบั้ง (Lug Pattern) มีลักษณะบั้งเป็นแนวขวางบนหน้ายาง หรือขวางเส้นรอบวงของยาง ดอกยางถูกออกแบบมาลักษณะนี้เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการตะกุย เหมาะสำหรับการใช้งานในถนนที่ขรุขระ แต่ก็ใช้บนถนนทั่วไปได้ที่ความเร็วต่ำ และยังมีร่องยางที่ลึกเพื่อให้มีอายุการใช้งานที่นาน

– ดอกยางแบบผสม (Rib Lug Pattern) เป็นประเภทของดอกยางที่ผสานลักษณะของดอกยางแบบละเอียด และแบบบั้งไว้ด้วยกัน โดยดอกยางแบบผสมจะมีดอกยางแบบละเอียดอยู่บริเวณพื้นที่ตรงกลาง และมีดอกยางแบบบั้งขนาบที่ขอบหน้ายางทั้งสองด้าน เหมาะสำหรับรถที่ใช้งานทั้งบนทางเรียบ และทางขรุขระสลับกัน

– ดอกยางแบบบล็อก (Block Pattern) มีลักษณะของดอกยางเป็นก้อนหรือจุด มีทั้งที่เป็นบล็อกเหลี่ยมหรือกลม ดอกยางลักษณะนี้จะมีประสิทธิภาพในการตะกุยสูง ทำให้เหมาะสำหรับรถที่ใช้งานแบบลุย หรือเส้นทางที่มีความโหดอย่างเช่นรถออฟโรด

ลักษณะของลายดอกยาง

นอกจากดอกยางแล้วสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้งานคือ ลายดอกยาง ซึ่งมีด้วยกัน 3 ลักษณะ

– ดอกยางทิศทางเดียว (Directional) ดอกยางมีลักษณะไปในทิศทางเดียวกัน โดยแก้มยางมีสัญลักษณ์ลูกศรแสดงทิศทางการหมุน เพื่อให้ใส่ยางได้ถูกต้อง ดอกยางลักษณะนี้มีจุดเด่นคือ สามารถรีดน้ำได้ดีกว่าดอกยางแบบสองทิศทาง

– ดอกยาง 2 ทิศทาง (Non Directional) ลักษณะของดอกยางถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสลับยางได้ทุกตำแหน่ง เพื่อการใช้งานที่นาน 

– ดอกยางแบบสมมาตร (Symmetric) เป็นลักษณะดอกยางที่เห็นได้ในยางส่วนใหญ่ คือมีลักษณะดอกยางและร่องยางที่ต่อเนื่องทั่วพื้นที่หน้ายาง หากแบ่งพื้นที่หน้ายางเป็นสองส่วน ลวดลายในแต่ละส่วนจะเหมือนกันทุกประการ

– ดอกยางแบบไม่สมมาตร (Asymmetric) เป็นลักษณะของดอกยางที่มีลายดอกยางทั้งสองฝั่งไม่เหมือนกัน หรือลายดอกยางด้านในด้านนอกต่างกัน โดยถูกออกแบบมาให้หน้ายางด้านในมีประสิทธิภาพสูงในการขับทางตรงและใช้ความเร็วสูง โดยที่ดอกยางด้านนอกจะให้การยึดเกาะถนนได้ดีเมื่อเข้าโค้ง เมื่อใส่ยางควรสังเกตให้ด้านที่มีคำว่า Outside บนแก้มยางอยู่ด้านนอก และคำว่า Inside อยู่ด้านใน

มือใหม่หัดขับต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมเรื่องอะไรบ้าง เมื่อออกสู่ถนนครั้งแรก

มือใหม่หัดขับรถนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุที่ค่อนข้างสูง ขณะที่อยู่บนท้องถนน หากทำอะไรไม่ถูกและเกิดผิดพลาด อาจร้ายแรงถึงชีวิตได้

จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนขับออกถนนจริง 

 

สิ่งที่มือใหม่หัดขับต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมมากเป็นพิเศษ เมื่อออกสู่ถนน

      1. ควรรู้มารยาทบนท้องถนน

มารยาทในการขับขี่สำคัญ เพราะมีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ และป้องกันการกระทบกระทั่งกันบนท้องถนนได้ เช่น

– เมื่อขับอยู่ทางโท ต้องให้ทางเอกไปก่อน

– ขับช้าควรอยู่ชิดซ้าย

– ถ้าอยู่เลนขวาแล้วมีรถวิ่งเร็วกว่าขับมาควรหลบให้แซง

– เวลาเลี้ยวให้อยู่ในเลนของตัวเองไว้

      2. ไม่ขับจี้ท้ายจนเกินไป

ระยะห่างระหว่างรถคันหน้าสำคัญมาก หากเกิดเหตุการณ์ที่ต้องเบรกกระทันหันขึ้นมา จะได้มั่นใจได้ว่ารถของเราจะไม่ไปกระแทกเข้ากับรถคันหน้า โดยระยะห่างที่ดีที่ควรเว้นไว้จากคันหน้าคือ อย่างน้อย 5 เมตรต่ออัตราเร็ว 10 กม./ชม.  หมายความว่า ถ้าคุณขับที่ความเร็ว 50 กม./ชม. ก็ควรเว้นเอาไว้อย่างน้อย 25 เมตรนั่นเอง แต่ถ้าเป็นช่วงฝนตก ถนนลื่น แนะนำให้เว้นระยะห่างเป็น 2 เท่าจากเดิม เพื่อความปลอดภัย

      3. ถอยหลังต้องคล่อง

การขับรถบนถนนตามปกตินั้นไม่ยาก แต่ที่ยากกว่าคือการถอยหลัง ไม่ว่าจะถอยหลังออกจากซอย ถอยเข้าซอง หรือการถอยเข้าจอด ก็มีหลายคนพลาดเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

       4. ห้ามลืมเปิดไฟเลี้ยว

ต้องเปิดไฟเลี้ยวก่อนที่จะเลี้ยวอย่างน้อย 30 เมตร เป็นสิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจ หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นจากการไม่เปิดไฟเลี้ยว 

       5. มองกระจกให้บ่อย

มือใหม่หลายคนที่ทำการเปลี่ยนเลนขับรถโดยไม่ได้มองกระจกซ้ายขวา และข้างหลังให้ดีก่อนจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งการมองกระจกนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของการขับรถบนท้องถนน ขณะขับรถแนะนำให้มองกระจกบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย จะทำให้ความปลอดภัยในการขับรถเพิ่มมากขึ้น

       6. ต้องระวังมุมอับสายตา

การแก้ปัญหามุมอับสายตาที่ดีที่สุดคือ การเปิดไฟเลี้ยว และขับช้าๆ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าไม่มีรถคันอื่นอยู่ในจุดอับสายตาอย่างแน่นอน หลังจากนั้นจึงค่อยทำการเลี้ยว

       7. ใช้สัญญาณเตือนให้เป็น

การกะพริบไฟสูง, การบีบแตร นั้นเป็นเหมือนการสื่อสารเจรจากันอย่างง่ายๆ บนท้องถนน ซึ่งจะใช้กรณีอย่างเช่น การขอทาง เพื่อเป็นสัญญาณเตือนในมุมอับให้รถอีกคันที่มองไม่เห็นเรา แต่การบีบแตรนั้นมีข้อจำกัดห้ามใช้ในบางสถานที่ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และวัด 

       8. ติดสติกเกอร์มือใหม่หัดขับ

สติกเกอร์มือใหม่หัดขับนั้นเป็นสัญลักษณ์เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่คนอื่นรู้ว่า เราคือมือใหม่ที่ยังขับไม่คล่อง ซึ่งรถคันอื่นจะได้ทิ้งระยะห่างเอาไว้ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

       9. ไม่แนะนำให้ขับรถเวลากลางคืน

ถ้ายังขับรถไม่คล่องแนะนำให้เลี่ยงการขับรถในเวลากลางคืน เพราะรถส่วนใหญ่จะขับกันค่อนข้างเร็ว จึงไม่เหมาะสำหรับมือใหม่หัดขับเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

       10. การรับมือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุบนท้องถนนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้จะระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตั้งสติรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเพียงเล็กน้อยก็ทำการเรียกประกันภัย หรือถ้ามีผู้บาดเจ็บก็ให้รีบติดต่อเรียกรถพยาบาลทันที

เทคนิคขับรถลงเขาอย่างปลอดภัย ผ้าเบรกไม่ไหม้

การขับรถลงเขา หรือทางลาดชันยาวๆ การใช้เบรกเพื่อประคองความเร็วเพียงอย่างเดียว อาจเสี่ยงต่ออาการผ้าเบรกร้อนจัดจนละลาย และขาดความฝืด เบรกแตกจนควบคุมรถไม่อยู่และเกิดอุบัติเหตุได้ ห้าม “แช่เบรก” ตลอดเวลา

เทคนิคการเบรกขณะลงเขาคือ

  1. ใช้เกียร์ต่ำสุดที่ทำได้

– รถเกียร์อัตโนมัติ ใช้ตำแหน่งเกียร์ D2, D1, S, L  

– รถเกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ต่ำ เช่น เกียร์ 1, เกียร์ 2  

– รถเกียร์ CVT ใช้ตำแหน่งเกียร์ S, B

– รถไฮบริดใช้ตำแหน่งเกียร์ B

เพื่อช่วยชะลอรถหรือที่เรียก Engine Brake ลดการทำงานของเบรกลงไม่ให้ร้อนเกินไป

เน้นให้เครื่องยนต์ช่วยเบรกเป็นหลัก แต่ต้องไม่ให้รอบเครื่องยนต์ถึงแถบแดง

“ห้าม” ใส่เกียร์ว่าง (เกียร์N) เป็นอันขาด เพราะรถจะไหลลงเขาด้วยความเร็วสูง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ ให้แตะเบาๆเป็นจังหวะ อย่าเหยียบเบรกค้างไว้ แต่ให้ปรับตำแหน่งเกียร์ตามความชันแทน รักษาระดับความเร็วให้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

     2. เบรกแรงตั้งแต่แรก

หารใช้เกียร์ต่ำแล้วรถยังไหลเร็ว ให้เหยียบเบรกให้แรงพอตั้งแต่แรกจนความเร็วลดลง แล้วจึงปล่อยเบรกให้รถเพิ่มความเร็วสลับไปเรื่อยๆ

     3. เพิ่มโหลดให้เครื่องยนต์

สามารถเพิ่มโหลดเครื่องยนต์ด้วยการใช้คอมเพรสเซอร์ “แอร์” และอัลเทอร์เนเตอร์ช่วยเบรกได้ ด้วยการเปิดแอร์ และปรับค่าอุณหภูมิให้เย็นที่สุด เปิดกระจกหน้าต่างทุกบาน และเปิดไฟหน้า ทำแบบนี้รถจะแล่นช้าลงจนรู้สึกได้